กระทิงมีรูปร่างคล้ายวัว ขนสั้นเกรียนเป็นมันสีดำหรือแกมน้ำตาล ขาสีขาวนวลคล้ายสวมถุงเท้า บริเวณหน้าผากมีหน้าโพธิ์สีเทาปนขาวหรือปนเหลือง สันกลางหลังสูง มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขาโค้ง โคนเขามีสีเหลือง ปลายเขาสีดำ ใต้ผิวหนังมีต่อมน้ำมันซึ่งน้ำมันมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย
พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย พม่า อินโดจีน มาเลเซียและไทย ในป่าเมืองไทยสามารถจำแนกได้ 2 ชนิดย่อย คือ Bos gaurus readei เป็นสายพันธุ์ที่พบทางป่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและอีสาน อีกสายพันธุ์หนึ่งคือ Bos gaurus hubbachi พบทางภาคใต้และเทือกเขาตะนาวศรี
กระทิงชอบกินดินโป่ง หญ้า หน่อไม้ ใบไม้อ่อน และผลไม้ป่าบางชนิดเป็นอาหาร
ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่อยู่ห่างไกล ทั้งป่าทุ่งหญ้าและป่าภูเขา ตามปกติไม่ดุร้ายเว้นแต่ถูกทำร้ายหรืออยู่ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ตัวเต็มวัยหนึ่งตัว นอกนั้นเป็นตัวเมียและวัยรุ่น ตัวผู้ที่เติบโตขึ้นอาจแยกออกไปตั้งฝูงของตัวเอง หรือถ้าเริ่มพ้นวัยหนุ่มก็อาจแยกไปเป็นกระทิงโทน แต่จะเข้ารวมฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์
มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) Iucnredlist, 2016
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยสำนักอนุรักษ์และวิจัย อยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัย การประเมินผลกระทบความขัดแย้งของกระทิงและประชาชนโดยวิธีการทางนิเวศวิทยาและการสำรวจความคิดเห็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพื่อหาแนวทางการจัดการประชากรอย่างยั่งยืน
CLASS : Mammalia
ORDER : Cetartiodactyla
FAMILY : Bovidae
GENUS : Bos
SPECIES : Gaur (Bos gaurus)
สถานะภาพทางการอนุรักษ์ : มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) Iucnredlist, 2016
มีอายุยืน 25 - 30 ปี
กระทิงสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ตัวเมียตั้งท้องนาน 9 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 06 เมษายน 2560