ช้างเอเชีย/Asian Elephant (Elephas maximus)

สิ่งที่น่าสนใจ :

เอกลักษณ์ของช้างที่รู้จักกันดีก็คือ อวัยวะพิเศษสองอย่าง นั่นคืองวง และงา งวงเป็นจมูกและริมฝีปากบนที่พัฒนาให้ยื่นยาวออกมาเป็นอวัยวะอเนกประสงค์ ใช้หยิบจับสิ่งของ เปล่งเสียง สูบน้ำ ส่วนงาเป็นเขี้ยวที่พัฒนาให้ใหญ่ขึ้นใช้เป็นอาวุธและงัดยกสิ่งของได้ ช้างเพศผู้มีงาเรียกว่า "ช้างพลาย" แต่บางตัวไม่มีงาเรียก "ช้างสีดอ" เพศเมียปกติไม่มีงาเรียก "ช้างพัง" แต่บางตัวอาจมีงาสั้น ๆ เรียกงาสั้นๆ นี้ว่า "ขนาย" หนังบริเวณลำตัวหนาราว 1.9-3.2 เซนติเมตร เป็นสัตว์กระเพาะเดียว มีฟัน 26 ซี่

ถิ่นอาศัย :

ช้างเป็นสัตว์ที่มีการกระจายพันธุ์ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาหาร :

ช้างเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร ใช้เวลากินมากถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ประมาณร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว หรือประมาณวันละ 200-400 กก. ช้างย่อยอาหารได้เพียงร้อยละ 40 จากปริมาณทั้งหมดที่กินเข้าไป ร้อยละ 60 ของอาหารที่กินเข้าไปจะถูกขับถ่ายออกมา คืนแร่ธาตุต่างๆ ลงสู่ดิน มูลช้างคือปุ๋ย สำหรับต้นไม้ในป่า และเป็นอาหารให้แก่สัตว์อื่นๆ

พฤติกรรม :

เป็นสัตว์สังคม ฝูงช้างซึ่งเรียกว่า "โขลง" ประกอบด้วยตัวเมียที่เป็นญาติพี่น้องกันและช้างเด็ก โขลงมีช้างตัวเมียที่อาวุโสที่สุดซึ่งเรียกว่า "แม่แปรก" เป็นจ่าโขลง แต่ละโขลงมีสมาชิกประมาณ 6-7 ตัว ส่วนใหญ่ช้างออกหากินในเวลากลางคืน โดยจ่าฝูงจะเป็นผู้นำฝูงในการออกหากิน หาแหล่งน้ำหรือนำฝูงหนีศัตรู

สถานภาพปัจจุบัน :

บัญชีแดงของไอยูซีเอ็นจัดช้างเอเชียไว้ในประเภทที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ และไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1

อื่นๆ :

ช้างเอเชีย เป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย เป็นสัตว์ที่คุ้นตาคนไทยทุกคน มีความสัมพันธ์กับคนมาช้านาน กษัตริย์ในอดีตทรงช้างทำยุทธหัตถี การสร้างบ้านแปงเมืองก็ต้องมีช้างเป็นกำลังสำคัญ ทุกวันนี้เด็กทุกคนก็ต้องเคยร้องเพลง "ช้าง" มาก่อน

อนุกรมวิธาน

CLASS : Mammalia

ORDER : Proboscidea

FAMILY : Elephantidae

GENUS : Elephas

SPECIES : Asian Elephant (Elephas maximus)

SUBSPECIES : Elephas maximus indicus

สถานะภาพทางการอนุรักษ์ : สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์

อายุเฉลี่ย :

อายุเฉลี่ยในป่าประมาณ 60 ปี ส่วนในสวนสัตว์ประมาณ 80 ปี

วัยเจริญพันธุ์ :

ช้างเด็กตัวผู้เมื่อโตจนมีอายุได้ 6-7 ปีก็จะออกจากโขลงไปหากินโดยลำพัง เมื่ออายุได้ 20 ปีก็จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ ช้างตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 10 ปี ตั้งท้องนานถึง 22 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว และแต่ละครอกห่างกันนานถึง 4 ปี ลูกช้างในฝูงอาจดูดนมจากแม่หรือจากช้างตัวอื่นในโขลงที่มีน้ำนมให้ดูด

ขนาดและน้ำหนัก :

ช้างเอเชียส่วนใหญ่มีขนาดความสูงช่วงไหล่ประมาณ 2-4 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 3,000-5,000 กิโลกรัม

ข้อมูลอ้างอิง :

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถานที่ชม :


แก้ไขข้อมูล ณ วันที่ 11 เมษายน 2560